หลักการและเหตุผลของมูลนิธิ


การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา มุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ขณะเดียวกันด้านการศึกษาโดยเฉพาะเด็กในชนบท ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนในเมืองใหญ่ๆ เด็กในชนบทไม่มีโรงเรียนดีๆ ที่จะเรียนเหมือนคนในเมือง ไม่มีอาคารเรียน ไม่มีสมุด ไม่มีหนังสือเรียน ไม่มีเครื่องแบบสวมใส่ไปโรงเรียน ไม่มีอาหารกลางวันรับประทาน ฯลฯ ด้วยการที่ได้พบเห็น ความขัดสนของชนบท นายกำพล วัชรพล ได้ปรึกษากับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทำอย่างไรจึงจะคืนกำไร ให้กับสังคมได้และเป็นอนุสรณ์ แห่งการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง จึงได้ดำริที่จะตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในชนบทให้ได้รับการศึกษา อย่างเท่าเทียมกับคนในเมืองใหญ่ๆ

จนปัจจุบัน มูลนิธิไทยรัฐมีโรงเรียนที่อยู่ในความอุปถัมภ์ถึง ๑๐๑ โรงเรียน พร้อมกับพัฒนา โรงเรียนเหล่านี้ให้ก้าวไปสู่มาตรฐานที่ดี เป็นโรงเรียนแม่แบบของโรงเรียนอื่นๆ และด้วยเงินทุนจำนวนดังกล่าว มูลนิธิ ไทยรัฐได้นำเอาดอกผลไปสนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๑ โรงเรียน ด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น อาหารกลางวัน การเกษตรในโรงเรียน ส่งเสริมจริยธรรม ทุนส่งเสริมเด็กด้อยโอกาส ส่งเสริมดนตรีและศิลปพื้นเมือง ส่งเสริมภาษาไทยและนิสัยรักการอ่าน สนับสนุนอุปกรณ์กีฬา พัฒนา ห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนระดับก่อนวัยเรียน และระดับประถมศึกษา ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน ก่อสร้างอาคารเรียนที่ขาดแคลนและเร่งด่วน อบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหาร และครูในโรงเรียน ฯลฯ