โครงการจ้างบุคลากรสนับสนุนการศึกษา


ระยะเริ่มต้นโครงการกำหนดให้มีอำเภอละ ๑ โรงเรียน รวม ๙๒๑ โรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการ และเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลต่อคุณภาพโรงเรียนและผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงดำเนินการจัดทำแผนหลักโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” (Master Plan of Lab School Project) ขึ้น เพื่อพัฒนาโรงเรียนภายใต้ปรัชญาโรงเรียนในฝัน คือ “ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นบุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รู้จักคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง มีความเป็นไทยและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” ในปี ๒๕๕๑ กำหนดพัฒนาโรงเรียนในฝันรุ่นที่ ๒ จำนวน ๘๖๗ โรงเรียน ภายใต้ชื่อว่า โรงเรียนในฝัน (โรงเรียนดีใกล้บ้าน) ในปี ๒๕๕๓ กำหนดพัฒนาโรงเรียนในฝันรุ่นที่ ๓ (โรงเรียนดีประจำอำเภอ) จำนวน ๗๑๕ โรงเรียน รวมทั้งสิ้น ๒,๕๐๐ โรงเรียน และในปี ๒๕๕๔ มีโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงในตำบลได้มาเรียน นำไปสู่การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนในท้องถิ่นชนบทได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพกระจายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

โครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” รุ่นที่ ๑ มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน ๓โรงเรียนได้รับการ คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนในฝัน ประกอบด้วยโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๒ (บ้านเอก) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๗ (บ้านนาพรุ) อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๕ เฉลิมพระเกียรติ เขตสายไหม กรุงเทพมหานครโดยโรงเรียนมีแผนงานระบบบริหารจัดการที่ดี คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีระบบมาตรฐานเทียบเคียงมาตรฐานเพื่อยกระดับการศึกษา มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีทักษะการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ มีการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้น่าดู น่าอยู่ และน่าเรียน สร้างเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทุกระดัับให้มีความเป็นมืออาชีพ นำเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ และบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ มีระบบภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้อุปถัมภ์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าฯลฯ มุ่งหวังให้เด็กไทยเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีอนาคตที่สดใส สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การสร้างเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทุกระดับให้มีความเป็นครูมืออาชีพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ แต่การให้ครูประจำการต้องมาทำหน้าที่ทุกอย่างอาจทำให้งานสอนด้อยประสิทธิภาพลงไป มูลนิธิไทยรัฐในฐานะผู้อุปถัมภ์ จึงได้จ้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนให้กับโรงเรียนในฝัน ๓ โรงเรียน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอนของครู ให้ครูประจำการได้ทำการสอนอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๒ จ.เชียงใหม่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๗ จ.ระนอง และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๕ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ