โครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส


พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 และ ฉบับที่ 3 พุทธศักราช 2553 หมวด 8 มาตรา 60 มีบทบัญญัติให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษาในฐานะที่มีความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยโดยจัดสรรเป็นเงินงบประมาณเพื่อการศึกษา

1) จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกัน

2) จัดสรรทุนการศึกษาในรูปของกองทุนกู้ยืมให้แก่ผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

โดยเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้จะไปสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนมีความรู้ มีคุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต

แม้รัฐจะสนองเจตนารมณ์พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 หมวด 8 มาตรา 60 (1), (2) และจัดโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ยังมีนักเรียนไม่จบการศึกษาเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากความยากจน มีปัญหาครอบครัว สมรส มีปัญหาในการ ปรับตัว ต้องคดี/ถูกจับ เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ อพยพตามผู้ปกครอง หาเลี้ยงครอบครัว และกรณีอื่นๆ ทำให้เป็นเด็ก ด้อยโอกาสทางการศึกษา ใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย มีแนวโน้มกระทำความผิดสูง เป็นปัญหาสำคัญทำให้เกิดความ สูญเสียทางการศึกษา เป็นความอ่อนแอทางการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก

ด้วยต้องการให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่มีฐานะยากจน ขาดแคลน และยากไร้ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับนักเรียนคนอื่นๆ มูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมด้านการศึกษาและช่วยเหลือกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจนและนักเรียนดีทั่วไป ฯลฯ คณะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ได้มีมติให้มีโครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาขึ้นในโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ที่เปิดสอนขยายโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการช่วยเหลือในโครงการพิเศษ โดยจัดทุนการศึกษาให้กับนักเรียน เพื่อให้เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาในปีนั้น ๆ หากไม่จัดโครงการพิเศษนี้ขึ้น นักเรียนอาจออกจากโรงเรียนกลางคัน เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนคนนั้นได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งให้ผู้ปกครองได้ส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษามากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมด 58 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 2, 4, 5, 7, 8, 12, 13, 19, 20, 21, 22, 26, 28, 31, 32, 33, 35 ,37, 38, 39, 40, 42, 43, 50, 51, 52, 56, 57, 59, 61, 62, 63, 64, 65, 66, 67, 68, 69, 70, 74, 75, 76, 77, 78, 79, 80, 81, 82, 84, 85, 92, 93 94, 95, 97, 98, 99, 101